ความเป็นมาของโครงการ


แผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เร่งอนุรักษ์ฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และมี ความมั่นคงด้านน้ำ รวมทั้งมีความสามารถในการป้องกันผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ และพัฒนามุ่งสู่การเป็นสังคมสีเขียว โดยในภาคอุตสาหกรรมได้ให้ ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นกลไกหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ ควบคู่กับการให้ความสำคัญ กับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 15 จังหวัด 18 พื้นที่ เพื่อ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ทั้งด้านการบริหารจัดการและการดำเนิน โครงการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว และจะมีการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดต่อไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานดำเนินงานหลักและมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2564

โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการส่งเสริมยกระดับและพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 1 ในพื้นที่ เป้าหมายเดิม 15 จังหวัด 18 พื้นที่ (จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา) ในด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การบริหารจัดการทรัพยากร พลังงานและสารเคมี ที่สอดคล้องตามตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดทำ ผังการไหลของวัสดุ (Material Flow) ใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์หาช่องทางการพัฒนาโรงงาน และการพึ่งพาอาศัย (Symbiosis) ระหว่างโรงงานกับโรงงาน และโรงงานกับชุมชน จำนวน 1,760 ใน 4,494 โรงงาน อย่างไรก็ตามจำนวนโรงงานที่ยังคงต้องได้รับการส่งเสริมและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวทางโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ให้มีความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม อีกจำนวน 2,734‬ โรงงาน และเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระยะที่ 2 และระยะที่ 3

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เพื่อยกระดับและพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมตามตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เกี่ยวกับโรงงาน ในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม (Eco Factory plus Social Value: Eco Factory +SV)
  • เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์ และตัวชี้วัดการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม (Eco Factory plus Social Value: Eco Factory +SV)
  • ส่งเสริม รวมกลุ่มและพัฒนาให้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีการทำงานเป็นเครือข่ายและขับเคลื่อนแผนโมเดลธุรกิจของพื้นที่
  • รวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนวิเคราะห์ พัฒนาการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับที่สูงขึ้นต่อไป